วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พั่นจื้อฮว้า(Pan Zhihua) มณฑลเสฉวน(ซื่อฉวน : Sichuan)

สายของวันกลางเดือนกันยายน เสียงตามสายจากอาจารย์ดร.กาญจนา สุทธิกุล นักวิชาการและนักปฏิบัติการอิสระ ความหวังของเกษตรกรไทย ไกลปืนเที่ยง!!!
“อาจารย์คะ หนูมีเรื่องจะปรึกษาอาจารย์พอมีเวลามั๊ยคะ... คือหนูได้รับการติดต่อจากจีนติดต่อผ่านอาจารย์สายณรงค์ ว่าให้ไปบรรยาย เกี่ยวกับการปลูกมะม่วงในเมืองไทย จะรบกวนอาจารย์ หากจะเชิญอาจารย์ไปด้วย ไม่ทราบว่า ติดหรือมีงานอะไรหรือเปล่า..?” เสียงที่ชักชวนเป็นเสียงที่ตั้งใจ มุ่งมั่น ของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยไฟแห่งอุดมการณ์
“เอาซิครับ! อาจารย์ควรเปิดตัวสู่สากล บ่มเพาะวิชาการ ปฏิบัติการ เพื่อมาบูรณาการก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ให้สมกับที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลเรียนจนจบปริญญาเอกที่ไต้หวัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปครับ! และหากเห็นว่าผมพอใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ในด้านการตลาดผมก็ยินดีครับ!” ผมให้คำแนะนำ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าท่านก็รู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร?
จากนั้น...หลายเรื่องราวที่ต้องดำเนินการในช่วงเพียงสามสี่วันให้เรียบร้อย ดูเป็นเรื่องฉุกละหุกพอสมควรสำหรับเราสองคน นับตั้งแต่ อาจารย์ ดร.กาญจนา ต้องต่ออายุหนังสือเดินทาง(PASSPORT) ที่เหลืออายุไม่ถึงหกเดือนตามเงื่อนไขการขอวีซ่า ในขณะที่การขอวีซ่าต้องใช้เวลา ที่สุดก็ต้องใช้เงื่อนไขสุดท้ายคือขอด่วนภายในวันเดียวด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ เหลือเวลาให้ปฏิบัติการอีก 2 วันรวมทั้งการจองเครื่องที่เหลืออีกเพียงวันเดียว(ไม่ใช่รถทัวร์) ทางจีนจัดเวลาให้ไว้ในวันที่ 17-22 กันยายน อันเป็นคิวของนักวิชาการจากเมืองไทยก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีนในวันที่ 22 กันยายน และช่วง 25-30 กันยายน เป็นช่วงของนักวิชาการจากอิสราเอลที่จอคิวรอ...ล่นหรือเลื่อนไม่ได้แล้ว ทุกอย่างเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ด้วยเวลาที่มีคุณค่าทุกนาทีที่ผ่านไป
TG 612 กรุงเทพ-คุนหมิง เป็นไฟล์ที่ใช้ในการเดินทาง ออกจากสุวรรณภูมิ เสียเวลาจากการเปลี่ยนเครื่องพอประมาณ การเดินทางใช้เวลา 2.15 ชม. ระยะทาง 790ไมล์ (1,271กม.) เวลาที่จีนเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง เรามาถึงคุนหมิงช้ากว่ากำหนดเกือบชั่วโมง ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองง่ายพอ ๆ กับไปภูเก็ตหรือเชียงใหม่ ออกมาก็พบสาวน้อยชื่อ คุณโจ (Ms Zhou Wenjing) สาวสวยแห่ง สถานีวิทยาศาสตร์เกษตรและป่าไม้ของพั่นจื้อฮว้า(Academy of Agriculture and Forest Science of PanZhihua) ยืนชูป้ายกระดาษสีขาวที่รออยู่ เมื่อเห็นป้ายชื่อ ดร.กาญจนา สุทธิกุล เราก็เข้าไปทักทายแนะนำตัวง่าย ๆ ก่อนพาไปขึ้นรถซึ่งจอดไม่ถึงร้อยเมตรจากอาคารผู้โดยสารขาออก
อาจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ทำหน้าที่เป็นล่าม ไทยเป็นจีน อังกฤษเป็นจีน และก็จีนเป็นจีน(ดร.กาญจนาเล่าให้ฟังว่าภาษาจีน นอกจากจีนกลางที่เป็นสากล แล้วยังมีภาษาจีนในแต่และมณฑลที่มีระดับเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน บางตัวก็เรียกคนละคำ แม้แต่คนจีนด้วยกันยังมีปัญหาการฟังและการสื่อสารด้วยกันเอง) สรุปได้ความสั้น ๆ ว่านั่งรถไปอีก 5 ชั่วโมง หัวหน้ารอร่วมรับประทานอาหารค่ำนี่เป็นคำบอกกล่าวจากคุณโจ เล่นเอาผมเดาหรือคาดการณ์อะไรไม่ถูก มองหน้าอาจารย์ ดร.กาญจนาอย่างงงๆ
“ห้าชั่วโมง ก็ราว ๆ กรุงเทพพิษณุโลกนะอาจารย์...?” ผมอดไม่ได้ที่จะแซวอาจารย์พร้อมกับอมยิ้มอาจารย์พยักหน้าหงึก ๆ เหมือนจะเริ่มรับรู้บางอย่าง
ออกจากคุนหมิง ด้วยแผนที่นำทาง เพราะต่างคนต่างงง ช่วงเพียงไม่ถึงปี คุนหมิง เปลี่ยนไป ถนนมีการก่อสร้างบางส่วนแล้วเสร็จ บางส่วนยังก่อสร้าง และขยายมากมาย ทำให้รถติดกันทุกเส้นทาง เราหนีขึ้นทางด่วนสภาพไม่ต่างกัน กว่าจะออกจาก คุนหมิง เราก็เหนื่อย และก็เหนื่อยมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อออกนอกเมือง เพราะถนนที่ชำรุด ที่บอกว่าชำรุดคือชำรุดจริง ๆ เพราะทุก 100 เมตร มีทั้งหลุ่ม ทั้งบ่อ ไม่มีการหยอด หรือชลอ ใส่อย่างเดียว กระเด็นกระดอน เหวี่ยงซ้าย เหงี่ยงขวา จนอาการเมารถเริ่มปรากฏให้เห็น ที่จริงระยะทางจากคุนหมิง ถึง พั่นจื้อฮว้า 252 กม. ถ้าถนนดี ๆ สักสี่ชั่วโมงก็น่าจะถึง แต่นี่ช่วง จากคุน หมิง – อู่ติ้ง ถนนแคบ รถวิ่งสวนกัน ขรุขระตลอดสาย บางครั้งก็ได้เห็นเกวียนเทียมควาย เทียมม้า เป็นระยะ ๆ และจากอู่ติ้ง-พั่นจื้อฮ้าว เป็นถนนแปดเลน วิ่งสวนกันคนละเลน ช่วงนี้สภาพถนนดี น่าจะเพิ่งได้รับการพัฒนามาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หลายช่วงผ่านอุโมง หลายครั้งวิ่งบนสันเขา และหลายคราที่วิ่งบนสะพานที่สร้างเกาะติดหน้าผาบนเทือกเขาที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา โอบโค้งกอดขุนเขาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
“อาจารย์ครับ ตอนนี้สูงกว่าระดับทะเลเท่าไรครับ ผมรู้สึกหูอื้อๆ...ครับ” สอบถามอาจารย์ ดร.กาญจนา เป็นช่วง ๆ เพื่อแก้ง่วง หรือบางช่วงตื่นจากอาการงัวเงีย ขึ้นมาไม่รู้จะคุยอะไรก็สอบถามเรื่อยเปื่อยแบบให้เกิดประโยชน์ และผ่อนคลายอาการเมารถลง
“พันแปดร้อยค่ะอาจารย์ หนูก็ว่าหูอื้อ เหมือนกันค่ะ” อาจารย์ ดร.กาญจนา ยกนาฬิกาที่วัดความสูงของพื้นที่ได้ ก่อนตอบผม
กว่าจะพ้น อู่ติ้ง ซึ่งอยู่ชายขอบของมณฑลยูนานมาได้ เวลาก็ล่วงเลยไป 5 โมงเย็นเศษ ท้องเริ่มฟ้องด้วยกันทุกคน ต้องใช้เวลาอีกเกือบสองชั่วโมงจึงจะถึงเป้าหมาย คุณโจ จึงเปลี่ยนแผนมาเป็น แวะภัตราคารมีชื่อข้างทางที่เรากำลังจะผ่าน เราเห็นตรงกันว่า ควรจะแวะเพราะกลางวันยังไม่มีอะไรตกถึงท้องกันมาเลย อาหารบนเครื่อง ดูจะไม่ค่อยได้ช่วยอะไรมากนัก ห้องน้ำก็ไม่ได้เข้า ตื่นเต้นจนลืมหิว ลืมห้องน้ำ ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง นั้งเกร็งมาในรถด้วยกันทุกคน เมื่อ แผนเดิมจะดินเนอร์ที่ พั่นจื้อฮ้าว กับ คุณลี (Mr. Li Guili) หัวหน้าแผนกไม้ผลของสถานีวิทยาศาสตร์เกษตรและป่าไม้ของเมืองพั่นจื้อฮว้า ที่คอยโทรสอบถามเป็นระยะๆ เมื่อแผนเปลี่ยน เราก็เริ่มหิวขึ้นมาทันทีทันใด คณะจึงแวะเข้ารับประทานอาหารในเวลาอาหารเย็นพอดี
ผมขอตัวเข้าห้องน้ำเป็นอันดับแรกเมื่อถึงภัตตาคาร ในขณะที่คุณโจทำหน้าที่เข้าไปสั่งอาหาร ระหว่างที่เดินสวนกับพนักงานชายของร้านคนหนึ่ง แอบเห็นเขากำลังหิ้วไก่หัวห้อยผ่านหน้าไปก็ให้เอะใจ “เอาไปทำอะไรล่ะหว่า???” ไม่คิดอะไรมาก เพราะยังไม่เห็นเมนูอาหาร และยังไม่รู้ประวัติศาสตร์ของร้านนี้มากนัก หลังจากเข้าห้องน้ำที่เราคาดการว่าห้องนำคงจะเป็นอย่างที่เราคิด(ไม่ขอเล่าเรื่องห้องนำก็แล้วกันเก็บเอาไว้ให้ ดร.กาญจนาเล่าให้ฟัง มีขำกลิ้งตามแบบฉบับของท่านแน่นอน) ผมเข้าไปในร้าน เห็นด้านหน้าประตูเข้ามีแผ่นพลาสติดใสกั้นแมลงวัน ภัตตาคารที่นี่มีสุขอนามัยดีมาก ต่างจากที่เราคิด บริเวณภายในสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญที่ไหน ๆ ก็เป็นแบบเดียวกันทั้งนั้นเป็นสุขอนามัยพื้นฐานที่ภัตราคารทุกแห่งให้ความเอาใจใส่
ภัตตาคาร QIAN PIN ZHUANG JI CHENG มีชื่อเสียงและเก่าแก่(ไม่รู้ว่าภาษาจีนอ่านว่าอะไร) อาหารที่มีชื่อเสียงได้แก่ไก่ และเป็นไก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นไก่ “จ้วงจี”(จ้วง แปลว่า แข็งแรง, จี แปลว่า ไก่) มีประวัติในร้าน ว่า สมัยก่อนเป็นไก่ที่พระมหากษัตินิยมนำมาเป็นอาหาร ผมดู ๆ แล้วเหมือนกับที่บ้านเราเรียกว่า “ไก่ดำ” เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของยูนาน เพราะมองเห็นที่หน้าตา ขา ล้วนแล้วเป็นสีดำ และเมื่อทำเสร็จแล้ว กระดูกและเนื้อเป็นสีดำซึ่งหลายคนเชื่อว่ารับประทานแล้วมีพลัง โดยเฉพาะเพศชาย
เรารอสักสิบนาที อาหารง่าย ๆ เช่น แกงจืดเต้าหู้ ผัดเห็ดภูเขากับพริกไทยอ่อน กระเพาะหมูยำ และผัดผักชนิดหนึ่ง “คงเถ้าไช่” (ไม่รู้ชื่อผัก) สุดท้ายที่ตามมา เป็นไก่ดำผัดกับน้ำพริก รสชาติเพ็ด เค็ม มัน ตามแบบฉบับดั่งเดิมของยูนาน ซึ่งเมื่อผมเห็นก็สะดุดใจขึ้นมาทันที ผมหันไปถามอาจาย์ ดร.กาญจนา
“อาจารย์ครับ เมื่อครู่ผมเดินสวนกับเด็กหนุ่น กำลังหิ้วไก่ที่เลี้ยง ผ่านหน้าผมไป สงสัยเจ้าตัวนี้แน่ ๆ” ผมชี้และมองหน้าอาจารย์ อมยิ้ม เสียงหัวเราะแบบขำ ๆ สไตล์อาจารย์ ดร.กาญจนาเบาลง
“จริงเหรออาจารย์” ดร.กาจนามองหน้าผมก่อนกลืนน้ำลายลงคอ ผมเกิดความรู้สึก อิ่มจุกขึ้นมาที่คอทันที
“อาจารย์...ก็เล่นกันสด ๆ อย่างนี้ เนื้อมันก็หวานแน่นละซี..ผมว่ามันเหมือนไก่ดำบ้านเรานะ” ผมถามพร้อมกับใช้ตะเกียบคีบดูก่อนรองลิ้มรสให้เห็นและสัมผัสชัดเจนขึ้นเพียงชิ้นเดียวเพื่อให้ดูกลมกลืนว่าสามารถรับประทานได้ไม่เกิดอาการกระอักกระอ่วนใจ
ผมเลี่ยงรับประทานเห็ดป่าและแกงจืดแทน รสชาติอาหารแม้ว่าจะมันอยู่บ้างแต่รสเค็ม เผ็ด ใกล้เคียงกับอาหารบ้านเราพอแก้อาการเลี่ยนลงได้บ้าง ผมว่ารสชาติอาหารจีนบางส่วนที่ใกล้เคียงกับอาหารบ้านเราอาจจะเป็นเพราะว่า สมัยสงครามกลางเมืองในประเทศจีนมีการแยกย้ายผู้คนในสมัยเจียงไคเชค เป็นจุดที่ชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนตัวมาทางทิศใต้แล้วก็เข้ามาถึงประเทศไทยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ไปตั้งรกรากใหม่ที่เกาะโฟโมซาก็กลายเป็นจีนไต้หวัน จึงไม่แปลกใจที่หลายอย่างของวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน
อิจฉา คุณโจ และโชเฟอร์ดูจะอะเร็ดอร่อยกับไก่ดำพันธุ์แท้ฉบับยูนาน เสียงที่เคี้ยวดังจั๊บ ๆ เสียงซดน้ำแกง ยังคงเอกลักษณ์ของคนจีนซึ่งก็น่ารักไปอีกแบบหนึ่ง หากจะมองว่าไม่สุภาพ ก็คงจะเข้าข้างตัวเราเองมากไป เพราะคนที่นี่อยู่บนเขา อากาศหนาว ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่จะร้อน การรับประทานอาหารร้อนคงหนีภูมิปัญญาดั่งเดิมไม่ได้ ดังนั้นเสียงที่ดัง น่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ในสังคมอารยธรรมของคนที่นี่ถือว่าเป็นสุภาพชนครับ ไม่มุมมามนะครับ ดูเรียบร้อยละเมียด และดูเป็นวัฒนธรรมที่ดูแล้วน่ารักน่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง
หลายคนอาจจะตั้งคำถามในใจอยู่ตลอดเวลาว่าจีนเป็นประเทศที่ประชาชนมาก และยากจน บางส่วนถูก บางสวนไม่ครบถ้วน เนื่องจากเมืองจีนเป็นเมืองใหญ่ เรียกว่ามณฑล ๆ หนึ่ง ใหญ่กว่าประเทศไทยเสียอีกการลงทุนในสาธารณูปโภคจึงใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นเลยดูเหมือนว่าสวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชนดูจะน้อยไป แต่ผมว่าเขาคิดถูก เพราะมาวันนี้สาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญที่สุด เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง และอดที่จะกล่าวชื่นชมไม่ได้ คือระบบโทรศัพท์ที่นี่แม้ว่าจะอยู่ในหุบเขา สันเขา อุโมง รับและโทรออกได้ชัดเจน อันนี้น่าจะพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่านโยบาย 3 G ที่นี่ไปไกลกว่าเมืองไทย ไม่ต้องรอให้หน่วยงานของรัฐมามัวทะเลาะกัน และเป็นแม่สายบัวรอเก้อ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่โต มีทั้งป่า เขา แม่น้ำมากมายที่เป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาสาธารณูประโภค วันนี้ผมเห็นเส้นทางจากคุนหมิง วิ่งบนเทือกเขาที่ตัดตรงไม่ลัดเลาะอ้อมเขาเหมือนเมืองไทย แม้ว่าต้องขุดอุโมงยาวเป็นกิโล วิ่งบนสันเขาที่สูงเกือบ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไต่หน้าผาสูงชันเหมือนสะพานยาวไกลสุดลูกหูลูกตาทอดผ่านระหว่างเมืองสู่เมือง และยังโทรศัพท์ที่อยู่ทุกแห่งหนยังคงความชัดเจน แม้แต่เสาไฟฟ้าแรงสูงที่เราพยามแหงนหน้าดูตระหง่านรายลิบลิ่ว ผ่านสันเขาทอดยาวไกลหายลับไปกับปุยเมฆและขุนเขาที่สลับซับ ซ้อนเลื่อมล้ำเป็นมิติที่สวยงามตรึงตาตรึงใจไม่รู้ลืม อัศจรรย์ที่เขาทำได้อย่างไร? ใช้งบประมาณขนาดไหน? แนวคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร? เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบสำหรับเมืองไทย
หลังจากเราอิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อแรกที่อู่ติ้งชายแดนมนฑลยูนาน เราก็มุ่งสู่ พั่นจื้อฮว้า ถนนช่วงนี้ดีกว่าที่ผ่านมา โชเฟอร์เริ่มทำเวลา ความเจริญที่ขยายผ่านเส้นทางเหล่านั้นทำให้การพัฒนาประเทศของจีนเป็นไปอย่างสมดุลย์และลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่แปลกใจเมื่อมองผ่านกระจกรถที่วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 120 กม/ชม.อย่างนักขับแลลลี่มืออาชีพ หากจะบอกว่าโชเฟอร์เราเป็นหญิงวัย 46 ปี ใส่กระโปรงสวยงามใส่รองเท้าส้นสูง ขับรถมิตซูมิชิ ปาเจโร่ วี 6 3000 ซีซี. ยอมรับในสมรรถภาพที่เชื่อถือได้เมื่อสปีด 120-130 กม/ชม กอดโค้งบนหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเล ร่วม 2,000 เมตร แม้ว่าบางช่วงถนนจะเรียบ แต่ สายตาที่มองรอดทิวรั้วเหล็กกั้นขอบถนนเพื่อป้องกันอันตรายหากรถเสียหลักล่วงเลยลงไป นั่นก็หมายความว่าจบเห่ เพราะไม่ว่าซ้าย หรือขวา เรากำลังอยู่บนสพานที่ยาวสุดลูกหูลูกตาเกาะเกี่ยวหน้าผาที่สูงชัน สวยงามและน่าใจหายใจคว่ำเมื่อรถผ่าลูกคลื่นที่ทำเพื่อให้ชะลอความเร็ว แต่ที่ไหนได้โชเฟอร์สาวสวยวัยกลางคน กระโดดข้ามไปอย่างชนิดจับอะไรไม่ทัน อาหารที่รับประทานกันมาเริ่มร่อยหรอ ใส้พุงกี่ขด ๆ เริ่มเกิดอาการรวนสะบัดร้อนสบัดหนาว เกิดเป็นอาการเมารถขึ้นมาทันที หากเปรียบเทียบ ช่วงจากคุนหมิงมาอู่ติ้ง อาจารย์ดร.กาญจนา บอกว่าเหมือนควบม้าที่กำลังพยศอย่างไงอย่างงั้น จากอู่ติ้งไปพั่นจื้อฮว้าเหมือน ม้าเลิกพยศ ฮ้อตะบึงเสียจ๊อคกี้เอง เกือบจะตกม้าตาย หวาดเสียว เหนื่อยเพราะเก็ง กว่าจะถึงก็ปาเข้าไป เกือบสามทุ่ม เข้าที่พักอย่างไม่รอช้า เพราะทั้งแขก และผู้ต้อนรับ โชเฟอร์เกิดอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด เราพักที่ New Windows Ren He Hotel ไม่เสียเวลามากนักสำหรับการเตรียมงานอย่างมืออาชีพ เสร็จสรรพเราก็เข้าโรงแรมระดับสามดาว มีอินเตอร์เน็ทไว้บริการพร้อม เรานัดแนะเวลาในวันรุ่งขึ้น และหลับด้วยความอ่อนเพลียในที่สุด
เมือง พั่นจื้อฮว้า (攀枝花) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของมณฑลเสฉวน(ซื่อฉวน : Sichuan) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามด้วยชื่อดอกไม้เพียงเมืองเดียวของจีน เป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางของมณฑลเป็นเมืองใหม่มีลักษณะเป็นเมืองที่บุกเบิกด้านพัฒนาทรัพยากร เป็นเมืองอุตสาหกรรม และเป็นเมืองที่ชาวต่างถิ่นนิยมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งภูเขา ระยะเวลากว่า 40 ปีของการพัฒนาและการก่อสร้าง ทำให้เมือง พั่นจื้อฮว้า พัฒนาขึ้นเป็นฐานผลิตเหล็กกล้า วาเนเดียมและไทเทเนียม แหล่งพลังงานและเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันตกของจีน เมืองพั่นจื้อฮว้า มีทรัพยากรการท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์ ทิวทัศน์ธรรมชาติที่รวมขุนเขาที่สลับซับซ้อน ทุ่งทะเลป่าไม้ ทะเลสาบกลางหุบเขา ถ้ำ และน้ำพุร้อนไว้ในที่เดียวกัน ทิวทัศน์ทางอุตสาหกรรมได้แก่ พันกาง – ธุรกิจร่วมทุนขนาดใหญ่ และเอ้อร์ทัน – สถานีกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ(Ertan Hydropower Station) กั้นแม่น้ำยาลอง(Yalong River) ด้านตะวันตกเชียงใต้ของ มณฑลเสฉวน
ที่สำคัญ เป็นเมืองที่มีการเกษตรอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะมะม่วง มีมากเป็นอันดับ สี่ ของจีน รองจาก ไห่หนาน(ไหหลำ) กวางสี และยูนาน ในทริปนี้เป้าหมายเราไปบรรยายเรื่องของเทคนิคการปลูกมะม่วง และการตลาดไม้ผล(เน้นเรื่องมะม่วงเป็นพิเศษ)
เช้าวันที่สองของการเยือน พั่นจื้อฮ้าว คุณโจมารับเราแปดโมงเช้าเพื่อพาไปรับประทานอาหาร เช้านี้ถูกจัดสรรให้ไปที่ร้านขาย หมี่เซียน “米线” ในภาษาจีนนั้น แปลว่า ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ที่อยู่ตรงข้ามโรงแรม เป็นร้านเล็ก ๆ แต่คนแลดูหนาตา คนจีนนิยมรับประทานอาหารเช้า เช่น ข้าวต้ม หมี่เซียน ไม่มีน้ำดื่ม ที่สำคัญเข้าร้านอาหารที่ไหน มีแต่น้ำชาร้อน ๆ ไม่มีกาแฟให้เห็นเลยซักร้านเดียว นอกจากในตัวเมือง ก็จะเป็นร้านอาหารฝรั่งอย่างเช่น KFC เป็นต้น
คุณโจรับหน้าที่สั่ง หมี่เซียนชามขนาดกลาง หุนตุ้น(คล้ายเกี๊ยว) และสวยเจี่ยว (คล้ายกูฉ่ายบ้านเรา) รสชาติเหมือนเดิม ร้อน เค็ม เพ็ด บางแห่งมีผงชูรสให้เติมต่างหาก หรือร้านข้าวต้มบางแห่งมีน้ำตาลทรายให้ ข้าวต้มบางร้านมีข้าวโพด เมล็ดบัวแล้วแต่ว่าร้านไหนจะสร้างเอกลักษณ์ของร้านอย่างไร วันนี้ได้กินอาหารรสชาติเสฉวนแท้ ๆ ไม่แปลกเลยที่เมืองไทยมีอาหารเหล่านี้รสชาติคล้ายคลึงกันมาก เรียกว่ามา “พั่นซื่อฮว้า” หาอาหารโดยเฉพาะ “หมี่เซียน” แบบที่ผมรับประทานเช้านี้ได้โดยไม่ต้องอาศัย “ม่าม่า” หรือ “ไวไว” ที่เตรียมมาครับ...
9 โมงเช้าเป็นเวลานัดหมาย พอ 8 โมงสี่สิบห้านาที ทีมงาน 8 คน พร้อมขึ้นรถเพื่อไปดูสวนมะม่วง และโรงงานคัดบรรจุของ De Yi Company ซึ่งอยู่ในเขต Ren He ของเมือง “พั่นจื้อฮ้าว” ผมขอชมเชยทีมงานไม้ผลของสำนักงานแห่งนี้ว่าทุกคนมีวินัย และตื่นตัวในการเรียนรู้ ใจเปิดกว้างยอมรับ และพยายามเรียนรู้อย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานทางราชการ แต่การทำงาน การร่วมแรงร่วมใจเหมือนเอกชนอย่างไรอย่างนั้น พอ 9 โมงตรงรถก็ออกเดินทางขึ้นเขา ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง รถก็มาถึงจุดหมายที่นัดแนะ มองเห็นป้ายก็ให้รู้สึกดีใจน้อย ๆ เพราะเขาขึ้นป้ายแสดงความยินดีและต้อนรับเรา
เราเดินดูแปลงมะม่วงที่มีระดับสูงกว่าน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร ดูเรื่องการตัดแต่งทรงพุ่มที่มีขนาดเตี้ยไม่เกิน 3 เมตร ง่ายและสะดวกในการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษาซึ่งเทคนิคเหล่านี้เขาเล่าว่า ปีนี้ตัดแต่งกิ่งทำให้ออกผลด้านล่าง ปีหน้าตัดแต่งกิ่งเพื่อทำให้ออกผลด้านบน นี่เป็นเท็คนิคที่นำมาจากไต้หวันที่ทำให้ต้นได้พักฟื้น ซึ่งก็เข้าทาง ดร.กาญจนา เพราะท่านชำนาญเท็คนิคการตัดแต่งกิ่งแบบไต้หวันมาก ที่สำคัญเราจะเห็นว่าแต่ละต้นนั้นอายุมากกว่าสิบปี แต่ทุกต้นมีความสมบูรณ์ ทั้งต้น กิ่ง และใบ การห่อที่มีประสิทธิภาพ ปราณีต บรรจง คุณภาพของถุง ราคาถุง สิ่งเหล่านี้เขาคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา หลายคนอาจจะบอกว่าค่าแรงเขาถูก ผมได้สอบถามค่าแรงต่อวันในสวนมะม่วงค่าแรงสักเท่าไร เขาบอกว่า ประมาณ 300 บาทต่อวัน นี่ก็แสดงว่าไม่มีความแตกต่างกัน
เราแวะลงดูบริเวณโรงคัดบรรจุที่จัดทำง่าย ๆ ช่วงที่เราไป ผลผลิตถูกเก็บเกี่ยวรอบสุดท้ายไปเมื่อวานนี้เอง ดังนั้น เราจึงไม่เห็นผลผลิตมากมายนัก เหลือเพียงเก็บส่วนที่หลงเหลือทะยอยส่งในตลาดในเมืองนี้ ผลผลิตที่นี่ยังไม่ได้ส่งออก เพียงแต่ส่งไปต่างเมืองก็ไม่เพียงพอ และในช่วงบ่าย เรามีนัดไปแปลงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลใกล้ ๆ 1,400 เมตร ที่เก็บเกี่ยวล่าช้ากว่าบริเวณนี้
ฤดูกาลของที่นี่จะออกล่ากว่าที่อื่นๆ ในภาพรวม ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเนื่องจากในเขต Ren He นี้ อยู่บนเขาเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นเหตุด้วยความสูงที่ต่างกันในแต่ละแปลง ทำให้ผลผลิตใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน บางแปลงห่างกันไม่ถึง 3-4 กม.ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวล่าช้ากว่ากันหลายวัน อันนี้เองที่ผมเสนอให้ทาง Mr Li Guili ทดลองจัดเป็นเขต ๆ เพื่อกระจายผลผลิตออกไปให้เกิดความสม่ำเสมอ โดยอาศัยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการแบ่งเขต และควรนำข้อแตกต่างนี้มาเป็นจุดแข็งของเขตพื้นที่นี้อีกทั้งจะทำให้ราคาสูงขึ้น(ช่วงนี้ราคา ประมาณ 60 บาทต่อกก. และอาจจะขึ้นสูงถึง 90 บาทต่อกก.ในช่วงตุลาคม ช่วงเดือน กันยายน ราคาอยู่ที่ 40-45 บาทต่อกก. พฤษภาคม-สิงหาคม 15-20 บาท/กก.) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐเอง มีการส่งเสริมการขยายเขตพื้นที่บริเวณนี้ให้ได้ผลผลิตรวม ประมาณ 7000 ตัน/ฤดูกาล
เราเดินชมสวนมะม่วงที่อยู่บนเชิงเขา หลายคำถามที่ต้องเก็บข้อมูลมาสอบถามผู้รู้ และหลายคำถามที่สามารถตอบได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่นี่เขาผลิตมะม่วงเพียงครั้งเดียว เขายังไม่ใช้วิธีการทำนอกฤดู ดังนั้น การจัดการพื้นที่จึงเป็นหัวข้อที่เขาสนใจ รวมถึงภาพรวมเมือง “พั่นจื้อฮว้า” ของมณฑลเสฉวน ผลผลิตจะออกล่าว่าทุกมณฑลที่ปลูกมะม่วงของจีน ดังนั้นข้อได้เปรียบนี้จึงถูกศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง นับตั้งแต่สายพันธุ์ที่เหมาะสม พื้นที่ที่แตกต่างทำให้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน วันนี้ประเด็นเหล่านี้ได้นำมาพูดคุยกันตลอดการเดินดูสวน และบางโรคที่เกิดตั้งแต่ผลเล็ก ๆ บางโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน เป็นประเด็นที่ต้องคบคิดและพัฒนาสายพันธุ์มาเสริม ท้ายสุดแนวทางการพัฒนาตลาดภายใน เพื่อขยายสู่ตลาดสากล เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐแห่งนี้ ผมจะเล่าให้ฟังในตอนที่สองฉบับหน้าต่อไป
การจัดการน้ำของที่นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการปลูกมะม่วง เขากักเก็บน้ำด้วยวิธีการง่าย ๆ คือทำเป็นสระไว้บนเขา รองรับน้ำฝน และวิธีการนำมาใช้ก็ง่าย ๆ คือใช้วิธีการแบบกาลักน้ำ น้ำที่บริเวณนี้หายากดังนั้นการค้นคิดวิธีกักเก็บน้ำจึงทำกันทุกวิถีทาง เราจะเห็นอยู่ทั่วไปที่เขาเก็บกักน้ำไว้บนหลังคาที่พักอาศัย
ฉบับหน้า ผมจะเล่าเทคนิคที่น่าสนใจ เช่น การจัดแบ่งเขตในการเพาะปลูกมะม่วงของที่นี่ สายพันธ์ที่นำมาปลูกและการพัฒนาสายพันธ์ใช้วิธีการคัดเลือกสายพันธ์อย่างไร การตัดแต่งกิ่งที่นำเท็คนิดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ การใช้ถุงห่อ การห่อ ค่าแรงในการห่อ ต้นทุนของถุง โรคที่พบ การขนส่ง การตลาดทั้งภายใน และการเริ่มต้นคิดที่จะส่งออกเป็นอย่างไร การจัดการกับอุณภูมิตามธรรมชาติที่แตกต่างกันทำอย่างไร ราคากับแนวทางในการแก้ไขทำอย่างไร การรวมกลุ่มเกษตรกรทำอย่างไร ปัญหาและอุปสรรค์ของการรวมกลุ่ม การส่งเสริมจากภาครัฐมีมากน้อยขนาดไหน และสุดท้าย ทำไมคนของเขาถึงมีความคิด มุ่งมั่น ที่จะพัฒนาสายพันธ์ ส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจัง ฉบับหน้าจะนำมาเล่าให้ฟัง สำหรับฉบับนี้ สวัสดีครับ!!!